เจ้าพ่อประตูผา

เจ้าพ่อประตูผา
       เจ้าพ่อประตูผาคือ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์” ของนับรบผู้กล้าหาญผู้หนึ่งเรียกกันว่า หนานข้อมือเหล็ก” ได้ต่อสู้กับพม่าจนเสียชีวิต เล่ากันว่าแม้เมื่อเสียชีวิตแล้ว ด้วยความห่วงใยบ้านเมือง ร่างของหนานข้อมือเหล็กยืนผิงผนังยกแขนสองข้างกำอาวุธขึ้นในท่าพร้อมสู้ ทำให้พม่ากลัวจนยกทัพกลับไปในที่สุด
       หนานข้อมือเหล็กจึงกลายมาเป็น เจ้าพ่อประตูผา” วีรบุรุษชาวลำปาง ผู้ปกป้องรักษาบ้านเมืองให้ดำรงสืบมาได้ในสายตาของคนรุ่นหลัง
       ดังนั้นริมถนนบริเวณช่องประตูผาจึงมีการสร้างศาลใหญ่ ผู้ที่รู้กิตติศัพท์และเดินทางผ่านเล่าลือกันไปต่างๆ ถึงอภินิหารของเจ้าพ่อประตูผา และนิยมบนบานเรื่องการสอบเข้าทหารและขอให้การทำงานสำเร็จ มีการแก้บนโดยนำตุ๊กตาช้าง ม้า ทำจากไม้ พร้อมทั้งศาลพระภูมิเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นที่อยู่ของบริเวณ เช่น พวกไพร่พลของเจ้าพ่อ จนบริเวณศาลไม่มีพื้นที่รองรับได้อีกต่อไป
       สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโลกทัศน์ของผู้คนในปัจจุบันที่มีความเข้าใจอย่างเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับการเชิดชูวีรบุรุษ การรักษาชาติบ้านเมือง และโกรธแค้นพม่าศัตรูถาวรของประเทศ จนสร้างภาพให้วีรกรรมของหนานข้อมือเหล็กกลายเป็น เจ้าพ่อประตูผา” วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาค ผสมผสานและเข้ากันได้พอดีกับแนวคิด ชาตินิยม” เพื่อเชิดชูวีรบุรุษรักษาบ้านเมืองหลายๆกรณีที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในประเทศไทย
       จึงไม่แปลกแต่อย่างใด เมื่อถึงเวลาเลี้ยงผีที่กลายเป็นงานพิธีใหญ่ประจำจังหวัด จากแต่เดิมที่ชาวบ้านบริเวณรอบๆ เป็นผู้กำหนดทำพิธีก็กลายเป็นวันที่ ๒๒ เมษายนของทุกปี โดยทหารแห่งค่ายฝึกรบพิเศษประตูผาเป็นผู้กำหนดและรับผิดชอบจัดงาน
       งานเลี้ยงผีจึงกลายเป็นงานชุมนุมร่างทรงมากกว่า ๒oo ร่าง ลงทรงเทพต่างๆ และฟ้อนร่ายรำเพื่อสักการะเจ้าพ่อ ผู้คนมาจากทั่วสารทิศกว่า ๒,ooo คน ทั้งเป็นคนในจังหวัดลำปางและอยู่ในจังหวัดอื่นๆ เครื่องสังเวย เช่น บายศรี มะพร้าว เหล้า ยาสูบ หัวหมู ประเมินว่าน่าจะมีเหล้าเป็นหมื่นขวดและหัวหมูเป็นพันหัวทีเดียว
       ลานกว้างบริเวณศาลเจ้าพ่อประตูผาใช้จัดงานรื่นเริง มีชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน ยิงปืน เธค มวย ประกวดธิดาเจ้าพ่อประตูผา กลายเป็นงานชุมนุมที่ไม่ต่างไปจากงานวัดในปัจจุบัน
       ปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ สำหรับความต้องการที่พึ่งทางใจ ภาพพจน์นักรบของเจ้าพ่อประตูผาทดแทนความไม่มั่นใจตนเองของคนในสังคมยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
       จากศาลผีรักษาด่านบริเวณรอยต่อแดนบนเส้นทางระหว่างลำปางและเมืองงาว ศาลเล็กๆที่ชาวบ้านตั้งให้ตรงช่องเขาอันเป็นจุดสู้รบในตำนานที่ผ่านการบอกเล่าสืบต่อกัน ถึงปีก็จะมีชาวบ้านมาปัดกวาดทำความสะอาด เชิญไปลงผีที่งานเลี้ยงผีบ้านของหมู่บ้านรอบๆ ครั้งหนึ่ง เช่นที่บ้านดงจะทำกันในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ หรือเดือน ๙ เหนือ หมู่บ้านอื่นๆก็นัดทำเอาตามสะดวกของตน พิธีกรรมเช่นนี้ชาวบ้านทำส่งทอดกันมานานหลายชั่วคน
       ชาวบ้านในแถบตำบลบ้านดงและแม่หวดเรียกเจ้าพ่อประตูผาว่า ผีใหญ่” เพราะเป็นผีสำคัญกว่าผีบรรพบุรุษหรือผีบ้านในชุมชนของตน การลงผีจะเชิญผีใหญ่หรืเจ้าพ่อประตูผาและบริวารมาเพื่อสอบถามดวงชะตาของหมู่บ้านและคนในหมู่บ้าน เช่น ฝนฟ้าจะตกต้องตามเกณฑ์หรือไม่ การทำไร่ทำนาจะได้ผลอย่างไร หรือถามถึงญาติพี่น้องที่ย้ายไปอยู่ต่างถิ่นว่าสุขสบายดีหรือไม่ โดยจะทำพิธีกันที่โหงบ้านซึ่งเป็นศาลาไม้อยู่ห่างบ้านเรือนติดกับไร่นา ร่างทรงมีทั้งหญิงและชาย ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๕ คน
       นอกจากการลงผีใหญ่แล้วยังมีบริวารตนอื่นที่ชาวบ้านนับถืออีก เช่น เจ้าพ่อหัวเมือง พ่อหนานอินต๊ะควบโลก พ่อข้อมือเหล็ก พ่ออกเหล็ก พ่อพญาคูนหาน พ่อคำลือ (เป็นพ่อของพ่ออกเหล็กและพ่อข้อมือเหล็ก) พ่อโหงคงคำ (ผีรักษาไร่นา) พ่อหนานใจพระบาทพระธาตุ พ่อบุญต้น พ่อบุญยง เป็นต้น
       ส่วนผีประจำหมู่บ้านแต่ละแห่งยังคงมีและทำหน้าที่เป็นผีบ้าน มีพิธีเลี้ยงผีเป็นประจำทุกปี เช่น เจ้าพ่อช้างเผือกผีประจำบ้านท่าสี เจ้าพ่อสันหนองบัวผีประจำบ้านดง เจ้าพ่อม่อนสุภาผีประจำบ้านหัวฝาย
       ชาวบ้านจึงนับถือผีควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา และแบ่งชั้นผีได้หลายระดับดังที่กล่าวไว้แล้ว คือระดับ ผีใหญ่” เช่น เจ้าพ่อประตูผาและบริวารเป็นผีของท้องถิ่น ต่อมาคือผีประจำหมู่บ้านหรือ ผีบ้าน” มีศาลผีหรือตูบผีในหมู่บ้าน และผีปู่ผีย่าหรือ ผีบรรพบุรุษ” ซึ่งเป็นผีประจำสายตระกูล ผีในธรรมชาติซึ่งจะดูแลรักษาลำห้วย หนอง ต้นไม้ ไม่ให้ชาวบ้านไปล่วงละเมิดสถานที่นั้นๆ หากเจ็บไข้ก็ต้องทำพิธีเสียเคราะห์ขอขมา จนกระทั่งถึงผีร้ายที่ให้โทษอย่างเดียว ชาวบ้านก็จะไม่ทำพิธีเลี้ยงผีใดๆทั้งสิ้น
       เล่าต่อกันมาว่า เจ้าพ่อประตูผาแต่เดิมเป็นคนบ้านต้า อำเถองาว จังหวัดลำปาง ได้ศึกษาคาถาอาคมจากสมภารวัดนายาง เขตอำเภอแม่ทะในปัจจุบัน จนมีอาคมสามารถใช้แขนแทนโล่ได้ จึงเรียกกันว่า หนานข้อมือเหล็ก
       เมื่อเกิดสงครามกับพม่า มีการรบกันที่ช่องเขาบริเวณประตูผา ใช้อาวุธทั้งดาบและปืน ชาวบ้านในปัจจุบันเล่าถึงการสู้รบครั้งนั้นอย่างเห็นภาพน่าสยดสยองว่า ยิงกันเหมือนห่าฝน เลือดไหลนองท่วมพื้น” ฝ่ายทัพเมืองลำปางและหนานข้อมือเหล็กพ่ายแพ้และเสียชีวิตลง แต่ตายในท่ายืนพิงภูเขายกแขนสองข้างกำอาวุธขึ้นพร้อมต่อสู้ ทำให้พม่ากลัวจนยกทัพกลับไปในที่สุด
       การสู้รบนี้พ้องกับเหตุการณ์ที่บันทึกในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ราว พ.. ๒๒๗๒ ๒๒๗๓ ช่วงเวลาที่พม่าส่งขุนนางและบริวารมาปกครองเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองในล้านนาต่างระส่ำระสายเกิดศึกสงครามทั่งไป พระสงฆ์วัดนายางซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์มีบุญบารมีเรียกกันว่า ตนบุญ” ตั้งตนเป็นผู้นำ มีคนเข้าร่วมฝากตัวเป็นจำนวนมาก สามารถปกครองเมืองลำปางแทนเจ้านายได้ เมื่อรู้ไปถึงเจ้าเมืองลำพูนจึงส่งท้าวมหายศนำทัพไปตีเมืองลำปาง ไล่ยิง ตนบุญ วัดนายางและพรรคพวกจนตายทั้งหมด
       หลังจากนั้นท้าวมหายศขูดรีดภาษีอย่างหนัก และออกอุบายซ่อนอาวุธ เข้าไปเจรจากับขุนนางเมืองลำปางแล้วฆ่าฟันล้มตายกลางสนาม คนที่เหลือต้องหนีเข้าป่าเข้าดอย ท้าวลิ้นก่านพาผู้คนหนีไปที่เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองจาง เจ้าอธิการวัดชมภูซึ่งเป็นพระสงฆ์อีกเช่นกันเกิดความเวทนาจึงตั้งตนเป็นผู้นำให้นายทิพจักหรือหนานทิพย์ช้างนำพลเข้าต่อสู้ ลอดท่อน้ำเข้าไปยิงท้าวมหายศในวัดลำปางหลวง ทิพจักกลายเป็นเจ้าเมืองลำปางและเป็นต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน ผู้ครองนครต่างๆในล้านนาสืบมา
       จะเห็นว่าไม่มีตอนใดในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงหนานข้อมือเหล็กและการสู้รบกับพม่าบริเวณช่องประตูผา แต่หากนำเรื่องที่ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า หนานข้อมือเหล็ก” เป็นศิษย์ตนบุญวัดนายาง และถูก “ยิงราวห่าฝน” ก็น่าจะได้เค้าว่าหนานข้อมือเหล็กคือกลุ่มผู้ศรัทธาเลื่อมใสต่อตนบุญวัดนายาง ทั้งเคยบวชเรียนเป็นพระภิกษุมาก่อน (จึงได้ชื่อว่าหนาน) ร่วมสู้รบกับทัพของท้าวมหายศขุนนางจากเมืองลำพูน โดยไม่มีอาวุธปืนนอกจากมีด ดาบ และไม้เท่านั้น และการสู้รบครั้งนี้ก็ไม่ได้สู้กับพม่าแต่อย่างใด
       ดังนั้นหากต้องการความจริงเกี่ยวกับเจ้าพ่อประตูผา คงไม่พบจากตำนานพื้นเมืองที่มีการคัดลอกเป็นฉบับต่างๆ และการจดบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นก็สรุปรวบรัด แต่หากใช้คำบอกเล่าที่สืบทอดกันมาของชาวบ้านในแถบเมืองงาว แม่เมาะ บ้านดง หนานข้อมือเหล็กเคยมีตัวตนอยู่จริงและเป็นคนเมืองงาวเป็นบรรพบุรุษของพวกตน การต่อสู้ที่ประตูผาก็เกิดขึ้นจริงจนจดจำกันต่อมาว่ามีการยิงปืนราวห่าฝน และเป็นเหตุกาณ์นองเลือดครั้งหนึ่งก็คงฝังอยู่ในความจดจำร่วมกันของผู้คนในท้องถิ่นนั้น
       น่าแปลกที่ความสัมพันธ์ระหว่างตำนานท้องถิ่นและสถานที่จริงยังคงหลงเหลือและมีอยู่หลายแห่งในจังหวัดลำปาง ชาวบ้านได้ฟังเรื่องเล่าตกทอดกันมากลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมแสดงความเป็นตัวตนของคนลำปางได้อย่างชัดเจน เช่น กรณีของเจ้าพ่อประตูผาและช่องเขาศักดิ์สิทธิ์ระหว่างลำปางและเมืองงาว กรณีชาวบ้านวัดป่าตันกุมเหมืองที่สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการทำสงครามระหว่างลำปางและลำพูนไว้ที่วัด เพราะเป็นสถานที่ทำสงครามระหว่างตนบุญนายางและทัพเมืองลำพูน แม้กระทั่งช่องท่อน้ำริมกำแพงวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่อ้างว่าเป็นช่องที่หนานทิพย์ช้างมุดเข้าไปยิงท้าวมหายศก็ยังมีการจดจำ บอกเล่า และเก็บรักษาเอาไว้
       ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ในอดีตและสำนึกตัวตนของคนลำปาง จึงเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่พบเห็นในท้องถิ่นอื่นๆได้ไม่มากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น