ชุมชนในละแวกประตูผา

ชุมชนในละแวกประตูผา
                                                       


       สภาพแวดล้อมของเมืองลำปางเต็มไปด้วยภูเขาและที่สูงสลับกับที่ราบเล็กๆ ในอดีตมีผืนป่าไม้สักขนาดใหญ่คุณภาพดี ทำให้บริษัททำไม้หลายแห่งเข้ามาขอสัมปทานป่าไม้จากเจ้าผู้ครองนครลำปาง เช่น บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา บริษัทบอเนียว บริษัทสยามฟอเรสต์หรือแองโกลสยาม ส่งไปขายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ
       เดิมบริษัทจ้างคนพื้นเมืองเป็นผู้ตัดไม้และชักลาก แต่เนื่องจากขาดความชำนาญเพราะไม่เคยทำ บริษัทจึงนิยมจ้างชาวพม่าเป็นผู้รับเหมาต่อ เพราะบริษัทต่างๆเหล่านี้เคยเข้าไปทำไม้ที่พม่ามาก่อน พวกพม่า ไทใหญ่จึงมีความชำนาญเป็นพิเศษสำหรับการเลือกตัดไม้และใช้ช้างชักลากออกจากป่า
       ราว พ.. ๒๔๓o – ๒๔๔o เป็นทศวรรษที่ลำปางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญและกิจการทำไม้สักก็รุ่งเรืองสูงสุด ทั้งเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายที่เข้ามาทำธุรกิจและกิจการป่าไม้ เช่น การเสด็จลำปางของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กล่าวถึงฝูงคนที่มารับเสด็จว่า ประกอบด้วยคนจีน ม่านหรือพม่า และเงี้ยวหรือไทใหญ่ ตลอดจนคนพื้นเมืองในเวียงลำปางเต็มไปหมด
       ที่ราบและดอยสูงของจังหวัดลำปางจึงกลายเป็นพื้นที่ซึ่งรวมเอากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจในสมัยดังกล่าวเป็นสำคัญ
       บริเวณเหนือแอ่งแม่เมาะต่อกับเมืองงาวในสมัยนั้นมีหมู่บ้านเมาะหลวงเป็นหมู่บ้านใหญ่ เหนือขึ้นไปคือบ้านหัวฝายและบ้านดง ห่างออกไปติดกับถนนสายลำปาง  งาว คือบ้านท่าสี บ้านจำปุย ผ่านช่องประตูผาก็จะลงสู่บ้านปางหละและบ้านแม่หวดในเขตเมืองงาว
       เมืองงาวในยุคนั้นเป็นเมืองที่มีความสำคัญรองจากนครลำปาง เพราะมีแอ่งที่ราบสำหรับปลูกข้าวที่กว้างใหญ่ นอกจากนั้นยังมีป่าไม้สักที่บริษัทของอังกฤษเช่าทำไม้อีกด้วย ทำให้ประชากรหนาแน่น มีการค้าคึกคัก เพราะตั้งอยู่บนถนนสายการค้าจากนครลำปางไปยังเชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ เมืองงาวจึงเป็นเมืองการค้าที่สำคัญในยุคนั้นทีเดียว
       ตามเส้นทางจากเมืองงาวผ่านช่องประตูผาสู่ลำปางเป็นผืนป่าไม้สักสัมปทานเช่นกันบ้านหัวฝายเป็นหมู่บ้านเก่าแกมากกว่าแห่งอื่น มีร่องรอยว่าเป็นชุมชนชาวไทใหญ่มาแต่เดิม เป็นหมู่บ้านที่มีการรับเหมาช่วงทำไม้สักให้บริษัทฝรั่ง ต้องเลี้ยงช้างและซื้อช้างมาไว้ลากซุงออกจากป่าแล้วส่งล่องแพลงไปกรุงเทพฯ บางครั้งช้างที่ใช้ต้องสั่งซื้อมาจากไกลๆแถวอุบลราชธานีก็มี ชาวบ้านหัวฝายบางกลุ่มจึงมีหลักฐานมั่นคงเนื่องเพราะการทำไม้ในอดีต
       ชาวบ้านหัวฝายบางกลุ่มเป็นคนที่อพยพมาจากบ้านเมาะหลวง ซึ่งเวนคืนที่เพื่อทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ หมู่บ้านเมาะหลวงแต่เดิมต้องย้ายแยกเป็นสองแห่ง ไปอยู่ที่บ้านเมาะหลวงใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นอำเภอแม่เมาะ และบ้านเมาะพัฒนาที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านเมาะเสรีอีกที่หนึ่ง หลักฐานก็เนื่องมาจากเมื่อถึงคราวไหว้ผีบรรพบุรุษ หลายตระกูลที่บ้านหัวฝายเคยไปไหว้ผีร่วมกับญาติที่บ้านเมาะหลวงเดิมในเขตโรงไฟฟ้าและบ้านเมาะทั้งสองแห่งอีกด้วย
       นอกจากนี้ทั้งบ้านหัวฝายและบ้านดงยังมีคนเชื้อสายขมุอยู่รวมกันในหมู่บ้านจนผสมกลมกลืนไปมากแล้ว ขมุจากซำเหนือเข้ามาเป็นลูกจ้างชักลากไม้ร่วมกับคนลาวและกะเหรี่ยงหลังจากเลิกกิจการป่าไม้ คนงานขมุจำนวนมากก็อาศัยอยู่ต่อไป ในปัจจุบันบ้านกลางใกล้กับบ้านจำปุยมีคนกลุ่มเชื้อสายขมุรวมตัวอยู่กันมากที่สุด
       บ้านท่าสีเกิดขึ้นจากการตัดถนนผ่านช่องประตูผาในช่วงศตวรรษ พ.๒๔๕ลูกจ้างสร้างทางจากแพร่ น่าน คนจากอีสาน หรือแม้แต่กรุงเทพฯรวมตัวสร้างเป็นชุมชนริมทาง จึงมีทั้งขมุและเย้าที่อพยพเข้ามาไม่นาน ที่บ้านท่าสีจึงมีพื้นที่ราบเพื่อเพาะปลูกน้อย เพราะเป็นชุมชนที่เกิดภายหลัง
       บ้านจำปุยอยู่ติดถนนเช่นกัน ในอดีตเคยเป็นปางไม้มาก่อน ปัจจุบันประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม เช่น คนพื้นถิ่น กะเหรี่ยง ขมุ เย้า เหนือจากบ้านจำปุยเข้าไปเป็นเขตเทือกเขา ไม่มีพื้นที่ราบ จะมีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ชาวบ้านกลุ่มอื่นเรียกพวกเขาว่ายางแดงอยู่มาแต่ดั้งเดิมนานหลายร้อยปี ทำไร่เพาะปลูกบนเขา และอยู่ห่างไกลจากชุมชนอื่นๆที่กล่าวมาแล้ว ชาวกะเหรี่ยงไม่ปรากฏว่านิยมมาเป็นลูกจ้างทำไม้ในอดีตหรือติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ หรือชาวเมืองในปัจจุบันแต่อย่างใด
       ชาวเย้าอพยพมาจากฝั่งลาวเมื่อมีการสู้รบเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนามกระจัดกระจายไปอยู่หลายแห่ง เย้ากลุ่มนี้มาพร้อมกับการจัดตั้งกองพันฝึกรบพิเศษค่ายประตูผาของกองทัพภาคที่ ๓ เมื่อ พ.๒๕๑๒ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณบ้านแม่หวดและบ้านแม่ส้าน อำเภองาว อย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยุงมีที่หมู่บ้านท่าสีด้วย เย้านับถือคริสต์จากการเผยแผ่ของมิชชันนารี เมื่อ ๒o กว่าปีมาแล้ว ถึงแม้จะนับถือศาสนาคริสต์และเข้าโบสถ์แบบชาวคริสต์ในวันอาทิตย์ แต่ชาวเย้าก็ยังคงนับถือผีดั้งเดิมของตนเองและยังรักษาประเพณีพิธีกรรมของตนเองไว้ได้
       อย่างไรก็ตามคนในหมู่บ้านแถบบ้านดงก็มีอคติกับพวกเย้าในเรื่องความสกปรกและการค้ายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าที่กำลังแพร่ระบาดหนักอยู่ในปัจจุบัน
       ชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการทำไม้ในยุครุ่งเรืองของลำปาง หลังจากนั้นก็อยู่อาศัยสืบเนื่องกันเรื่อยมา อาศัยการเพาะปลูก ทำนาทำไร่ ปลูกถั่ว ข้าวโพด อ้อย สับปะรด หาของป่า
       จากการสำรวจของกรมรถไฟเมื่อ พ.๒๔๖๔ – ๒๔๖๕ เพื่อหาแหล่งเชื้อเพลิงแทนฟืน ได้พบแหล่งถ่านหินจำนวนมากที่บ้านแม่เมาะ หลังจากเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทานในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.. ๒๔๗o มีพระบรมราชโองการสงวนแหล่งถ่านหินไว้เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้น
       ในราว พ.. ๒๔๙๗ เริ่มตั้งโรงงานไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์และเปิดเหมืองอย่างจริงจัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในเวลาต่อมาเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่สำรวจพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกมาก
       ถึงแม้จะมีมาตรการป้องกันมลพิษเป็นหลักการก็ตาม แต่ชุมชนหมู่บ้านในเขตบ้านหัวฝาย บ้านดง ไปจนถึงท่าสีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อ พ.. ๒๕๔๑ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๒o คน
       ชาวบ้านเล่าว่าน้ำฝนที่ตกลงมานั้นไม่สามารถดื่มกินได้เพราะเป็นกรด ชาวบ้านจะเรียกกันว่าฝนเหลือง หญ้าตามพื้นดินตายหมด ต้นไม้ใบร่วง พืชผักเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ช่วงหน้าแล้งและหน้าหนาวที่บ้านหัวฝายซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้ามากที่สุดจะมีฝุ่นปกคลุมหมู่บ้านตลอดเวลา ชาวบ้านหัวฝายทิ้งบ้านไว้ให้ร้างและอพยพออกไปจากหมู่บ้านมากกว่า ๑ooหลังคาเรือนแล้ว
       อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่ยอมรับว่าเป็นจริง และได้ให้ความช่วยเหลือเป็นการรักษาโรคทางเดินหายใจให้ฟรี แจกทุนการศึกษา สร้างลานกีฬาสำหรับเยาวชน และรับชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างและแคดดี้ในสนามกอล์ฟ ทั้งนี้มีการแบ่งรายได้ค่าภาคหลวงให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอแม่เมาะ ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินที่สูงมากทีเดียว
ในปัจจุบันคงมีแต่ชาวบ้านสูงอายุเท่านั้นอยู่ทำไร่ทำนาในหมู่บ้าน บางแห่งต้องถูกเวนคืนที่ทำกินในบริเวณป่าเขาและที่สูงเนื่องจากการปลูกสร้างสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การใช้พื้นที่ร่วมกันสำหรับฝึกรบพิเศษของทหารจากค่ายประตูผา หากวันใดที่ทหารต้องฝึกใช้กระสุนจริงก็จะประกาศไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำไร่
       หนุ่มสาวส่วนใหญ่เข้าไปเรียนหนังสือบ้าง เข้าไปหางานทำในเมืองบ้าง เพราะไม่สามารถสร้างอาชีพอยู่ได้ในหมู่บ้านของตน รวมไปถึงปัญหามลภาวะจากโรงไฟฟ้าด้วย ชาวบ้านฐานะไม่ดีนักจึงต้องลักลอบตัดไม้อยู่หลายราย กลายเป็นเรื่องปกติของคนในหมู่บ้านโดยรอบประตูผา
       บริเวณแอ่งที่ราบแม่เมาะไปจนถึงดอยประตูผาเป็นพื้นที่สำคัญของเมืองลำปางมาโดยตลอด การค้นพบภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาที่ยาวที่สุดในประเทศ ไทยคงจะไม่เป็นที่เข้าใจนัก หากไม่ได้ศึกษาและรับรู้ถึงบริบทแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้เกิดชุมชนในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนมาปัจจุบัน
       และเมื่อถึงเวลาต้องดุแลมรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ไว้ให้อยู่คงสืบไป เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงเห็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่ตั้งหวังกันเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น