ความเคยชินที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ความเคยชินที่ต้องเปลี่ยนแปลง

(จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก  ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๓๒ กันยายน – ตุลาคม ๒๕๔๔)
       ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นเจ้าภาพเปิดพื้นที่ให้ คนท้องที่” ได้แสดงความมีตัวตนแก่สาธารณชนไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
       ก่อนจะมาเป็น ประวัติศาสตร์จันทบุรีจากคนท้องถิ่น” กระแสความขัดแย้งคุกรุ่นเริ่มต้นที่ค่ายเนินวงซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พาณิชย์นาวี เมื่อคนเมืองจันท์เชื้อสายชองไม่พอใจคำนิยาม ความเป็นคนชอง” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนั้นมอบให้
        เพราะรู้ตัวว่าไม่ใช่คนป่า ไม่ได้นุ่งห่มกึ่งเปลือย มีวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้ต่ำต้อยไปกว่าคนจันทบุรีอื่นๆแต่อย่างใด
       แต่ไม่เคยมีการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อ คนชอง เลย หลังจากข้อเขียนเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา
       ต่อจากนั้นก็เป็นที่เมืองเพนียดซึ่งโครงการการลงทุนเพื่อสังคม [SIF] ให้การอุปถัมภ์เพื่อขุดค้นบริเวณที่ถูกเรียกว่า คอกช้าง หรือสระน้ำของศาสนสถานกลางเมือง ความขัดแย้งเกิดจากการเรียกร้องข้อมูลของนักวิชาการท้องถิ่นที่ขยันตั้งคำถามและต้องการคำตอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะรำคาญหรือเบื่อเกินกว่าจะให้เวลากับคำถามและคำตอบเหล่านั้น
       ความไม่ลงรอยในเรื่องความคิดของคนที่มีฐานมาจากมหาวิทยาลัยและจากการแสวงหาและเรียนรู้ด้วยตัวเองก็ขยายกว้างขึ้นจนกลายเป็นสงครามย่อยๆที่ไม่มีใครยอมใคร
       จบลงด้วยช่องว่างที่ถ่างๆขึ้นบนความรู้สึกหวาดระแวงและไม่เชื่อใจทั้งความรู้และคนของรัฐ แม้ยุคนี้จะมีการเรียกร้องให้ข้าราชการไทยลดบทบาทความเป็นขุนนางของตนลงก็ตาม
       คำประกาศของคนชองและนักวิชาการท้องถิ่นจากเมืองจันท์บนพื้นที่การศึกษาทางมานุษยวิทยาในเมืองหลวงในวันนั้น เสมือนตบหน้าพวกเราให้คิดให้ละเอียดขึ้น ศึกษาให้ถี่ถ้วนขึ้น อย่าหลงติดแต่กระพี้ แต่ให้เห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และให้เห็นถึง คนอื่น” ที่ไม่ใช่เรา
       นิสัยขุนนางที่คุ้นเคยอยู่กับการใช้นิ้วชี้สั่งคนอื่นให้ยอมรับโดยไม่นึกถึงหัวจิตหัวใจของใครก็จงละเลิกเสีย นอกจากจะต้องเคารพความคิดคนอื่นแล้วหากเห็นว่าความคิดเหล่านั้นไม่เข้าท่าหรือเห็นว่าผิดปกติ ก็ต้องกล้าพอที่จะแย้งและให้เวลาอธิบายชี้แจงทั้งเหตุและผลให้เกิดความเข้าใจด้วยความอดทน
       เพราะสมองของมนุษย์เราไม่ได้มีขนาดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือนักวิชาการที่จบจากมหาวิทยาลัยแถมพกด้วยปริญญามากกว่าสามใบก็ตาม
       วิธีคิดของข้าราชการที่ลำปางก็คล้ายกัน คือ ใช้โครงสร้างอำนาจแบบราชการบังคับให้เชื่อ ให้คนทั่วไปยอมรับขั้นตอนปฏิบัติงานที่ไม่สามารถแม้แต่จะมีเหตุผลอื่นๆให้เลือกแก้ไข ถึงจะน่าเชื่อถือเพียงไร
       โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนพัฒนาแหล่งภาพเขียนสีประตูผาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง มีความพยายามจะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่ลานส่วนหนึ่งของศาลเจ้าพ่อประตูผา สำนักงานนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม สถาปนิกและนักผังเมืองจากสมาคมสถาปนิกสยามเขียนแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยไม่ได้ปรึกษาผู้มีความรู้เรื่องภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นแบบอาคารที่สถาปนิกคิดฝันขึ้นเอง เป็นการจัดสวนและพื้นที่การใช้งานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อความสวยงาม แต่ลืมบริบททางวัฒนธรรมของภาพเขียนสีและศาลเจ้าพ่อประตูผาซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของคนในเขตนั้นทั้งอดีตและปัจจุบัน
       และเป็นการคิดและฝันฝ่ายเดียวของข้าราชการและนักธุรกิจการท่องเที่ยวในตัวจังหวัด เพราะโครงการนี้ไม่เคยมีการแถลงข่าวให้ผู้คนได้รับรู้ขั้นตอนการดำเนินงาน แม้แต่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ยังไม่เคยเห็นแบบแปลนอาคารก่อสร้างแต่อย่างใด
       ก่อนประกวดราคาก่อสร้างอาคาร มีการประชุมนอกรอบเพื่อให้ข้อมูลแก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลที่อนาคตต้องรับผิดชอบดูแลว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ควรมีความรู้อะไรเป็นเบื้องต้น และควรมีข้อมูลเช่นไรในอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น
       ที่สำคัญการศึกษาและคิดฝันถึงเนื้อหาจะต้องมีมาก่อนการออกแบบอาคาร เพื่อปรับให้สอดคล้องและรับใช้กันได้อย่างกลมกลืน
       สถานการณ์เช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ไม่สามารถทำได้ นอกจากการทุจริตหรือการดื้อแพ่งยอมแพ้ต่อระบบราชการที่ฝังรากลึกจนไม่อาจแคลนคลอน
       ข้าราชการระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัดผู้รับผิดชอบเห็นด้วยในการประชุมครั้งแรก แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อค้นพบความจริงที่โครงการนี้ไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพิจารณามาก่อน แต่ใกล้ถึงวันเวลาที่จะต้องประกวดราคา ไม่เช่นนั้นต้องส่งเงินคืนกระทรวงฯ เหตุผลเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วกับการเพิกเฉยคำทักท้วงและท้องติงทั้งจากตัวแทนชาวบ้านและนักวิชาการจากภายนอกที่เคยแสดงความคิดเห็นในการประชุมนอกรอบนั้น
       ผลสุดท้ายชาวบ้านในพื้นที่ก็ต้องโอนอ่อนต่อขุนนางข้าราชการซึ่งใช้ทุกวิถีทางในการออกคำสั่งให้คนในพื้นที่ยอมรับแนวทางวิธีคิดแบบของตนเอง
       ความผิดพลาดเหล่านี้สังคมอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะเป็นเพียงความขัดแย้งในเรื่องการจัดการทางวัฒนธรรมและปัญหาการธำรงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ซึ่งไม่มีผลประโยชน์และงบประมาณที่ถูกแย่งชิงเป็นร้อยเป็นพันล้าน
       แต่สิ่งเหล่านี้กระทบต่อความรู้สึกของคนในสังคมที่แยกย่อยออกไปจากศูนย์กลาง คนที่ถูกมองข้ามและละเลย นอกจากพวกเขาจะมีผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถถูกถอนทิ้งทำลายเป็นสิ่งตอบแทน หรือการกระจายอำนาจที่กระจายผลประโยชน์งบประมาณ แต่ไม่ได้แจกจ่ายให้อำนาจคืนสู่ชาวบ้านอย่างแท้จริง
       เป็นความเคยชินที่ต้องเปลี่ยนแปลง แม้จะฝังรากลึกนานเพียงใดก็ต้องขุดรากถอนโคนทิ้ง เพราะสิ่งเหล่านี้จะกัดเซาะสังคมไทยในอนาคตให้อ่อนแออย่างไม่สามารถคิดฝัน ความเข้มแข็ง” ได้อีกเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น