ช่องประตูผาและถนนพหลโยธิน

ช่องประตูผาและถนนพหลโยธิน
                                                                                       

       เนื่องจากภูมิประเทศในเขตล้านนาประกอบไปด้วยแนวสันเขาสลับแอ่งที่ราบ ทำให้การติดต่อระหว่างชุมชนต่างๆ ทำได้ยากลำบากมากกว่าที่ราบลุ่มในภาคกลางหรือที่ราบสูงในอีสาน ดังนั้นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มหมู่บ้านที่มีการติดต่อระหว่างชุมชนหรือวัฒนธรรมเฉพาะตัวในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงแทบไม่ปรากฏ เท่าที่พบมีเพียงลักษณะของชุมชนที่มีความโดดเดี่ยว ไม่มีการเกาะกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเด่นชัดแต่อย่างใด
       บริเวณที่ราบลุ่มน้ำวังของจังหวัดลำปางเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆได้มากกว่าชุมชนอื่นๆในเขตล้านนา นับเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคก็ว่าได้ เพราะสามารถเชื่อมโยงเส้นทางเดินทางทั้งกลุ่มเชียงใหม่ กลุ่มพะเยา – เชียงราย  เชียงแสน ไปจนถึงเชียงตุง กลุ่มเมืองน่านไปจนถึงหลวงพระบาง กลุ่มเมืองแพร่ไปจนถึงพิษณุโลกและต่อเข้าไปในเขตอีสาน กลุ่มศรีสัชนาลัย – สุโขทัย กลุ่มเมืองตากกำแพงเพชรไปจนถึงพม่า
       การเดินทางใช้ทั้งทางน้ำและทางบก ผ่านลำน้ำและช่องเขาหลายแห่ง แต่ละแห่งผ่านรอนแรมของนักเดินทางมานับพันปี จนเป็นที่รู้กันว่าเส้นทางสายใด ช่องเขาที่ไหน จึงจะเป็นจุดซึ่งสะดวกที่สุด
       ร่องรอยของการเดินทางสามารถศึกษาจากเอกสารที่มีการจดบันทึกไว้ และมักจะเป็นเส้นทางเพื่อสู้รบทำสงครามระหว่างแว่นแคว้นตามสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งเขียนไว้ในตำนานพื้นต่างๆ อีกอย่างหนึ่งคือ ระหว่างจุดผ่านแดนหรือเขตติดต่อในการเปลี่ยนเขตปกครอง ซึ่งมักจะเป็นจุดที่แบ่งตามภูมิประเทศ เช่น สันปันน้ำบริเวณยอดดอย ช่องเขา จุดสังเกตที่มีรูปร่างแปลกๆ บริเวณดังกล่าวจะมีศาลผีตั้งอยู่และกลายเป็นศาลเจ้าพ่อใหญ่โตเมื่อผ่านมาจนปัจจุบัน เช่น ศาลเจ้าพ่อขุนตานบริเวณรอยต่อระหว่างเขตเมืองลำปางและเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน รวมทั้งศาลเจ้าพ่อประตูผาระหว่างลำปางและเมืองงาวก็อยู่ในกรณีนี้เช่นกัน
       ช่องประตูผาอยู่ระหว่างเทือกเขาด้านตะวันออกเฉียงเหนือของนครลำปางที่ราบริมน้ำวังไปทางตะวันออก บริเวณนี้มีลำน้ำลำห้วยหลายสายไหลผ่านป่าใหญ่ซึ่งยังคงความสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติอันหลากหลาย ในอดีตคงเป็นดงทึบและเขียวชอุ่มอยู่ตลอดทั้งปี ลำน้ำสำคัญๆ เช่น น้ำแม่เมาะและน้ำแม่หวด ลัดเลาะผ่านเทือกเขาหินปูนซึ่งมีลักษณะคล้ายกำแพงสูงทะมึนซึ่งมีอยู่หลายแห่ง เช่น ผาสัก ผาคอก ผาขวาง ผาก้าน ผาคัน ผาแดง และผาประตูผา ลักษณะเป็นแนวเขาลูกโดดสองลูกต่อกัน ระหว่างกลางเป็นช่องแคบเล็กๆคล้ายกำแพงที่มีช่องประตูอยู่หว่างกลาง จึงเป็นที่มาของชื่อ ประตูผา” นับเป็นจุดผ่านแดนซึ่งสะดวกและรวดเร็วที่สุดในการเดินทางผ่านไปยังที่ลุ่มเมืองงาว
       คงมีผู้คนสืบเนื่องใช้ช่องประตูผาเดินทางข้ามภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่พบภาพเขียนและรอยประทับฝ่ามือบนชะง่อนผาหินปูนจำนวนมาก นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีกรรมของชุมชนท้องถิ่นนี้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าบริเวณนี้คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันของชุมชนต่างๆที่เคยอยู่ในละแวกป่าเขาและดงดอยรอบๆเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
       นอกเหนือจากเป็นเพิงผาที่มีภูมิประเทศสวยงามโดดเด่นแล้ว ช่องประตูผายังเป็นจุดแบ่งแดนอย่างชัดเจน มีการค้นพบจารึกบนแผ่นไม้ซึ่งอยู่ในถ้ำบริเวณเทือกเขาไม่ไกลกันนัก สมัยพระเจ้าติโลกราช วิเคราะห์โดยสรุปน่าจะกล่าวถึงการแบ่งเขตเก็บทรัพยากรของป่าระหว่างคนในบังคับของเมืองเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนไม่ให้ลุกล้ำแดนต่อกัน นั่นหมายถึงบริเวณนี้เป็นเขตรอยต่อระหว่างอำนาจของศูนย์กลางที่เมืองเชียงใหม่และศูนย์กลางที่เมืองเชียงแสน ในยุคที่ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเจริญสูงสุด และอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ก็เข้มแข็งอย่างชัดเจน แต่คงไม่มากพอที่จะรวมเอาบ้านเมืองในล้านนาทั้งหมดอยู่ภายใต้ศูนย์รวมอำนาจเดียวกันที่เชียงใหม่หรือไม่ใช้วิธีรวมศูนย์ นับเป็นเรื่องควรพิจารณาต่อไป
       เมื่อการปฏิรูปการปกครองได้ผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลเทศาภิบาล ก่อนหน้านั้นการติดต่อระหว่างภาคเหนือและภาคกลางใช้เส้นทางน้ำต่อด้วยขบวนช้างและม้าเป็นหลัก จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการรถไฟเริ่มกรุยทางจากสายสั้นๆ แล้วต่อเนื่องเป็นเครือข่ายทั่วภูมิภาค แต่ทางรถไฟสายเหนือทำมาถึงลำปางในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ..๒๔๕๙ เจาะผ่านดอยขุนตาลถึงเชียงใหม่สำเร็จก็เมื่อกิจการรถไฟดำเนินไปได้ ๓๕ ปี ล่วงไปแล้ว (การรถไฟเริ่มเมื่อ พ.. ๒๔๒๙ ทำทางมาถึงเชียงใหม่และเปิดให้ใช้ได้เมื่อ พ.. ๒๔๖๔) หลังจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในภาคเหนือก็มีเส้นทางรถไฟเป็นปัจจัยหลักอยู่เป็นระยะเวลานาน
       เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในตำแหน่งสมเด็จพระยุพราชเสด็จเยี่ยมมณฑลพายัพเมื่อ พ.๒๔๔๘ และทรงพระราชนิพนธ์ลิลิตพายัพไว้เป็นอย่างนิราศ อธิบายการเดินทางจากนครสวรรค์เสด็จทางชลมารคไปขึ้นบกที่อุตรดิตถ์ และต่อด้วยขบวนช้างและม้าผ่านแพร่ ลำปาง จากจุดนี้เสด็จพระราชดำเนินผ่านบ้านแม่เมาะหลวง ปางจำปุย (ต่อมาคือบ้านจำปุย) และน่าจะผ่านช่องประตูผาแม้ไม่ได้กล่าวไว้ ผ่านปางหละ ออกเมืองงาว ไปพะเยา เชียงราย ล่องแม่กกเข้าแม่สรวย เวียงป่าเป้า ดอยสะเก็ด เข้าเชียงใหม่ แล้วเสด็จตามลำน้ำปิงกลับพระนคร
       เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เริ่มมีการทำถนนสายหลักจากลำปางไปเชียงราย หลักฐานส่วนหนึ่งคือภาพถ่ายของพระเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม...สท้าน สนิทวงษ์) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงคมนาคมเมื่อ พ..๒๔๕๔ อยู่ในขบวนขี่ม้าไปตรวจราชการการสำรวจสร้างทางบริเวณช่องประตูผา จากทางเกวียนแคบๆ คงมีการระเบิดช่องเขาขยายให้เป็นถนนและเสร็จสิ้นในราว พ.. ๒๔๕๗
       เส้นทางสายนี้เป็นถนนสายหลัก (หมายถึงสร้างไปพร้อมๆกับการปักเสาโทรเลข) เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างเมืองสายแรกที่ปรากฏในภาคเหนือ เริ่มทำก่อนที่ทางรถไฟสายเหนือจะมาถึงลำปางและเชียงใหม่หลายปี
       สันนิษฐานถึงสาเหตุที่เลือกทำเส้นทางนี้ก่อนคงเป็นเพราะลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าและการทำไม้สักแหล่งสำคัญในภาคเหนือช่วง พ.. ๒๔๓o – ๒๔๔o หลังทศวรรษนี้จึงได้ขยายพื้นที่ไปที่เมืองแพร่และเมืองน่าน กิจการสัมปทานทำไม้สักคงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการตัดถนนสายนี้ก่อนขณะที่เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่เชียงใหม่กำลังจะได้รับการเชื่อมต่อด้วยทางรถไฟจึงยังไม่จำเป็นต้องมีถนนเพิ่ม ส่วนเส้นทางจากเชียงใหม่ไปเชียงรายก็ใช้ประโยชน์จากทางสายลำปาง  เชียงรายนี้ได้เช่นกัน หรือไม่เช่นนั้นล่องลงลำน้ำกกแล้วต่อด้วยขบวนช้าง ม้า วัว ก็สามารถทำได้
       ราว พ.. ๒๔๓๑ นักเดินทางชาวตะวันตกบันทึกสภาพถนนจากแอ่งที่ราบเมืองงาวไปยังเมืองลำปางว่า มีการพัฒนาอย่างดี ตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่เป็นคลื่น ปกคลุมด้วยป่าไม้สักอันกว้างใหญ่ มีลำน้ำอุดมสมบูรณ์ มีสถานที่ที่เรียกว่า “ปาง” หรือสถานที่พักอยู่หลายแห่ง ระหว่างครึ่งทางเป็นเทือกเขาซึ่งเป็นภูเขาหินที่มีช่องแคบตามธรรมชาติที่เรียกว่า ประตูผา” เป็นเครื่องหมายของเขตแดนระหว่างเมืองงาวและนครลำปาง ถนนนี้ได้ผ่านป่าและเข้าสู่ทุ่งนาอันไพศาลที่ล้อมรอบนครลำปางเอาไว้
       มีหลักฐานในการตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า ถนนประชาธิปัตย์” แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของประเทศไทย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพหลโยธิน” มาจนถึงปัจจุบัน
       ถนนพหลโยธินได้ชื่อจากกรมทางหลวงในปัจจุบันว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายเอเชียที่เชื่อมต่อทวีปเอเชียทั้งทวีปเข้าด้วยกัน เพราะปลายทางสามารถต่อถนนกับพม่าที่แม่สายบริเวณท่าขี้เหล็กดังที่ทราบกันทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น