ประตูผา

ประตูผา’ ความขัดแย้งระหว่างอำนาจศักดิ์สิทธิ์และอำนาจสาธารณ์

       การค้นพบของผู้กองแห่งค่ายฝึกรบพิเศษประตูผา ร้อยเอกชูเกียรติ มีโฉม บริเวณเพิงผาเหนือช่องเขาอันเป็นจุดที่ศาลเจ้าพ่อประตูผาตั้งอยู่ ถ้าไม่นับความยิ่งใหญ่ของผาแต้มที่โขงเจียมแล้ว นี่คือกลุ่มภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และน่าตื่นตาตื่นใจที่สุด
       เพิงผาซึ่งมีภาพเขียนสูงจากแอ่งที่ราบราวๆ ๔o – เมตร แต่จอดรถบริเวณศาลเจ้าพ่อประตูผาแล้วเดินขึ้นไปได้อย่างสบาย ลักษณะเป็นผาชะโงกเอียงเข้าด้านใน ดังนั้นพื้นผิวที่เขียนภาพและบริเวณพื้นที่ใต้ภาพเหล่านั้นซึ่งมีการฝังศพ จึงเป็นสถานที่ปลอดภัยจากน้ำฝนและความชื้นค่อนข้างดี มีผลอย่างมากต่อการรักษาสภาพของภาพเขียนส่วนใหญ่และอินทรียวัตถุในหลุมฝังศพที่ยังอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
       ในประเทศไทย เราไม่เคยพบหลุมศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลือหลักฐานจากพิธีกรรมฝังศพได้มากขนาดนี้ คงมีเพียงเมล็ดข้าว เมล็ดพืช เศษผ้าทอเล็กๆน้อยๆ ติดอยู่กับเครื่องมือสำริดหรือเหล็กเท่านั้น
       ภาพเขียนซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งมี ๗ กลุ่ม ระยะทางรวมกันราว ๑๒o เมตร ยาวที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทยเรียงรายไปตามแนวเพิงผาหินปูนที่มีพื้นผิวค่อนข้างเรียบนับจำนวนได้ราว ๑,๘๗๒ ภาพ ทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง ใช้เทคนิคทั้งลายเส้นและการลงสีทึบ เป็นภาพมือรูปแบบต่างๆจำนวนมากที่สุด นอกจากนี้ก็มีภาพสัตว์ พืช เครื่องมือเครื่องใช้ ภาพเหตุการณ์ รวมถึงภาพรูปทรงแปลกๆ
       หากมองภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ว่าเป็นภาษาอย่างหนึ่ง หรือเป็นระบบการสื่อสารร่วมกันของคนในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่ยังไม่มีลายลักษณ์อักษร การวาดภาพลงบนพื้นหินในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือภูผาศักดิ์สิทธิ์จะมีโครงสร้างที่มีความหมายเป็นที่เข้าใจกันในระหว่างชุมชน และน่าจะแสดงถึงการยืนยันถึงถัวตนของผู้วาดต่อกลุ่มสังคมนั้นๆ
     อาจกล่าวได้ว่าเจ้าของวัฒนธรรมในแอ่งประตูผารวมตัวกันเป็นกลุ่มในสังคมแบบchiefdom ซึ่งมีหัวหน้ากลุ่มและสายตระกูลต่างๆเลือกตั้งชุมชนในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เลือกใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำพิธีกรรมบนผาชะโงกอันเป็นบริเวณที่งดงาม ลักษณะสิ่งของเครื่องใช้แสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลักที่ครอบคลุมวัฒนธรรมในเขต Mainland Southeast Asia เมื่อราว ๓,ooo ปีมาแล้ว
       ประตูผาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับมนุษย์ตลอดมา ช่องเขาธรรมชาติแห่งนี้หนานข้อมือเหล็กซึ่งเป็นคนเมืองงาวตั้งทัพสู้กับพม่าจนตัวตาย เป็นเรื่องที่ชาวบ้านในแอ่งแม่เมาะและเมืองงาวเล่าสืบต่อกันให้ลูกหลานฟัง และร่วมกันตั้งศาลไว้ที่ช่องประตูผา เมื่อถึงเวลาเลี้ยงผีในปีหนึ่งๆ ก็จะมาเชิญไปที่หมู่บ้านครั้งหนึ่ง และยกให้เป็น ผีใหญ่” ในหมู่ผีของตน
       เมื่อมีการขยายถนนพหลโยธิน ศาลเจ้าพ่อประตูผาก็เริ่มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มคนที่นับถือกันในท้องถิ่นเล็กๆกลายเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนเดินทาง ยิ่งอยู่ในยุคเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ ความใหญ่โตของศาลเจ้าพ่อประตูผายิ่งเพิ่มขึ้น ผีใหญ่ในท้องถิ่นจึงถูกแย่งชิงกลายเป็น ผีเจ้าพ่อ” ของคนต้องการที่พึ่งในยุคนี้ไป
       การค้นพบภาพเขียนสีที่บริเวณประตูผานำไปสู่การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก จังหวัดลำปางจัดทำเป็นโครงการร่วมกับภาครัฐและเอกชน มีงบประมาณดำเนินการมาได้สองสามปี
       จนได้งบประมาณทำอาคารพิพิธภัณฑ์ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมนักผังเมืองไทย โดย นายเทิดเกียรติ ศักดิ์คำดวง เป็นผู้ออกแบบอาคาร แม้ยังไม่มีเนื้อหาภายในว่าจะจัดแสดงอะไร ทั้งไม่เคยประชุมปรึกษากับผู้ทำการศึกษาในบริเวณนี้ รวมทั้งยังไม่มีเงินในการจัดแสดงแต่อย่างใด

       อาคารที่ออกแบบมาจึงเป็นความนึกฝันของสถาปนิกเท่านั้น ขาดข้อมูลจากการตีความเกี่ยวกับเรื่องที่ปรากฏหากเชื่อแนวคิดรวบยอดผู้ที่ออกแบบเสนอไว้ ว่าเสมือนก้อนหินที่ผุดขึ้นกลางดิน มีอาคารสามหลังล้อมาจากอาคารทรงไทย แต่ก็เป็นอาคารโล่งๆ ซึ่งไม่มีแนวคิดส่วนใดสัมพันธ์กับข้อมูลทางโบราณคดีบริเวณช่องประตูผา
       ตลอดเวลาที่ดำเนินงาน องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่หวด อำเภองาว ซึ่งชาวบ้านทั้งสองแห่งนี้เป็นผู้ดูแลสถานที่มาตั้งแต่อดีตก่อนที่กองกำลังทหารจะเข้ามาดูแลแทน ยังไม่เคยเห็นแบบอาคารรวมทั้งรายละเอียดต่างๆแต่อย่างใด
       จนกระทั่งวิธีการทำงานแบบรวบรัดนี้แพร่จากห้องประชุมของจังหวัดไปสู่สาธารณะบางส่วน จึงมีการจัดสัมมนาโดยมีสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดลำปางและองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงและแม่หวดเป็นฝ่ายเจ้าภาพ เชื้อเชิญ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม จากมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม มาแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงความสำคัญของภูผาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
       สาระสำคัญของการสัมมนาอยู่ที่การพยายามบอกเล่าถึงความสำคัญในการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบริเวณประตูผาว่ามีความสำคัญต่อมนุษย์ในอดีตอย่างไร และมรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ควรจะมีการอธิบายถึงความสำคัญในการสื่อความหมาย เพื่อแสดงพลังของความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีต่อมนุษย์ในแอ่งประตูผาเมื่อหลายพันปีก่อน
       นั่นหมายถึงจำเป็นต้องค่อยๆพิจารณาถึงแนวทางการจัดแสดงและการดำเนินการให้เหมาะสม ซึ่งไม่ควรกำหนดเอาอย่างรวบรัดจากฝ่ายบ้านเมืองหรือนักวิชาการเพียงฝ่ายเดียว
       ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งสองแห่งอยากให้ย้ายสถานที่การสร้างรวมทั้งปรับปรุงแบบอาคารเพื่อท้องถิ่นซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างกันจะได้มีการดูแลรักษาร่วมกัน รวมถึงผลประโยชน์ในการท่องเที่ยวก็สามารถจัดสรรแบ่งกันได้
       แต่เรื่องดังกล่าวไม่สามารถโน้มน้าวให้ทางจังหวัดลำปางเห็นคล้อยตามหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการดำเนินงาน ซึ่งมีข้ออ้างในเรื่องระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจจะมีปัญหา และงบประมาณนี้ถ้าตกไปก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้คนทั้งจังหวัดลำปางได้ จึงดำเนินการขายแบบและกำหนดวันประมูลราคาโดยทันที
       เมื่อมีเสียงค้าน จังหวัดจึงจัดการแถลงข่าวโดยให้นายอำเภอแม่เมาะ และอำเภองาวประชุมตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งสองแห่งให้มีมติยอมรับและคล้อยตามที่ประชุมในวันรุ่งขึ้น ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
       ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนของจังหวัดลำปางที่เข้าร่วมประชุมต่างปิดปากเงียบสนิท ในบรรยากาศเสมือนชี้สั่งให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกัน ดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ประตูผาต่อไป ถึงแม้จะมีเพียงอาคารเปล่าๆ และสื่อมวลชนกำลังโจมตีอยู่ก็ตาม
       การควบคุมทางสังคมที่ใช้  “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” [sacred] คืออำนาจที่พึ่งพิงธรรมชาติ ใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสัญลักษณ์ให้มนุษย์ยอมรับกฎเกณฑ์ร่วนกันอันเป็นกระบวนการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่ง อำนาจศักดิ์สิทธิ์นี้ทำให้ผู้คนโอนอ่อนผ่อนตามโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายหรือกำลังบังคับ
       มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ประตูผาต่างพึ่งพากฎเกณฑ์ตามธรรมชาติและอำนาจศักดิ์สิทธิ์นี้ ภาพเขียนเหล่านั้นคือสิ่งที่ส่งผ่านมาให้รับรู้
       จนกระทั่ง อำนาจสาธารณ์” [profane] ซึ่งหมายถึงอำนาจการจัดการจากรัฐหรือการบังคับบัญชาตามระเบียบราชการเข้ามาแทนที่และครอบงำความคิดของผู้คนให้เชื่อถือและยอมรับ
       สังคมไทยเคยมีสมดุล สามารถคานอำนาจทั้งสองแบบได้โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากนัก แต่ในปัจจุบันนับวันอำนาจสาธารณ์จะมีกำลังและบทบาทโดยไม่สามารถทัดทานได้
       ในแอ่งแม่เมาะและเมืองงาว อำนาจศักดิ์สิทธิ์มีความสำคัญต่อการตัดสินใจในเรื่องส่วนรวมมาโดยตลอด ชาวบ้านทั้งสองแห่งต่างนับถือเจ้าพ่อประตูผา โดยเฉพาะชาวเมืองงาวที่เชื่อว่าหนานข้อมือเหล็กหรือเจ้าพ่อประตูผาคือบรรพบุรุษของพวกตน การดูแลศาลเจ้าพ่อต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับชุมชนในท้องถิ่นเดียวกัน
       การจัดการพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยจากสำนึกร่วมของชาวบ้าน อาศัยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่นี้เข้ามาจัดการโดยไม่จำเป็นในการพึ่งอำนาจรัฐมานาน อาจจะนับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบันก็ได้
       อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เคยคงอยู่เหล่านี้ถูกทำให้อ่อนแอลงจากอำนาจสาธารณ์ของฝ่ายราชการ เมื่อมีการใช้อำนาจบังคับให้ยอมรับในความจำเป็นเร่งด่วนของทางจังหวัดลำปางซึ่งพยายามเน้นเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ของคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ทำให้เห็นความร่วงโรยของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดมาหลายพันปี
       อำนาจสาธารณ์ของฝ่ายปกครองแสดงออกด้วยความดื้อรั้น รวบรัดและไม่นิยมลงลึกในรายละเอียด แม้จะได้ข้อมูลทักท้วงและเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ
       หากปิดกั้นการจัดการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของออำนาจศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลและตัดสินใจ อันเป็นสิ่งที่เคยเป็นและเคยตัดสินใจมาโดยตลอด โอกาสที่บริเวณประตูผา” จะกลายเป็นตัวแทนของอำนาจสาธารณ์ ของราชการ ซึ่งว่างเปล่า ไร้ชีวิตชีวา ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีใครใส่ใจบำรุงก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
       ความหมายของอำนาจศักดิ์สิทธิ์อันเป็นหัวใจของชุมชนมนุษย์ที่ส่งผ่านมานานหลายพันปีจะเลือนหายไปจากภูผาแห่งนี้ เหลือไว้เพียงผาแต้มสีที่ไม่มีความหมายใดๆทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น